เที่ยวตัวเมืองระนอง

3571 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เที่ยวตัวเมืองระนอง

วัดบ้านหงาว
     วัดบ้านหงาวตั้งอยู่ที่ ต.หงาว อ.เมืองระนอง จ.ระนอง เดิมเป็นเพียงที่พักพระสงฆ์ จนกระทั่งหลวงพ่อเขียด พระธุดงค์ได้เดินทางมาจากปัตตานี มาปักกรดบำเพ็ญ แล้วชาวบ้านเกิดการเลื่อมใส ศรัทธา จึงได้สร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ.2530 และให้ท่านพำนักที่วัดแห่งนี้ ปัจจุบันวัดบ้านหงาวมีเจ้าอาวาสชื่อพระครูประจักษ์สุตาสาร เป็นพระนักพัฒนา ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในสมัยพระครูประจักษ์สุตาสาร เช่น อุโบสถหลังใหม่ที่ใหญ่และสวยงามน่าแวะมาท่องเที่ยว นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ๆเป็นไฮไลท์เมื่อมาเยือนจังหวัดระนอง

 ภูเขาหญ้า
     ภูเขาหญ้า หรือ เขาหัวล้าน หากใครมีโดรนบินได้ถ่ายจากมุมสูง ได้พบกับรูปหัวใจบนเนินเขา ซึ่งหากได้เดินทางในช่วงหน้าร้อน ภูเขาหญ้าก็จะมีสีของต้นออกสีน้ำตาลแดง หากช่วงหน้าฝนก็มีหญ้าสีเขียวปกคลุมเนินเขา จึงเป็นที่นิยมเรียกชื่อว่า “ภูเขาหญ้าสองสี” เนินเขาไม่ได้สูงมาก สามารถไปเดินเล่นได้ แต่ควรไปช่วงเย็นๆ เพราะช่วงกลางวันแดดจะค่อนข้างร้อน ที่ตั้งของภูเขาหญ้า จะอยู่ ต.หงาว ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ตรงข้ามกับน้ำตกหงาว ห่างจากตัวเมืองระนองโดยประมาณ 11-12 กิโลเมตร เลยสนามบินระนองมาไม่ไกลมาก จะเข้าตัวเองต้องผ่าน อย่าลืมแวะไปถ่ายรูปกันนะจ๊ะ

 

 บ่อน้ำร้อนพรรั้ง
     บ่อน้ำร้อนพรรั้ง จังหวัดระนอง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ ค่าธรรมเนียมเข้าผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท จะมีร้านค้าขายอาหาร ขายไข่ลวกที่ลวกจากบ่อน้ำร้อนธรรมชาติของที่นี่ ทำไมรู้สึกว่าทานที่นี่แล้วอร่อยกว่าที่นี่(ความเห็นส่วนตัว) ใครที่จะมาแช่บ่อน้ำร้อนที่แห่งนี้ จะมีแบบแช่ทั้งตัว และบ่อเล็กๆ แค่ไว้แช่เท้า และควรพกผ้าเช็คตัว และเสื้อผ้ามาเปลี่ยนด้วยนะค่ะ


วัดวารีบรรพต
     เป็นวัดที่นึงที่มาระนองแล้วต้องแวะมากันให้ได้ ซึ่งตรงข้ามวัดเป็นวิวเนินเขาที่สวยงาม สภาพแวดล้อม พื้นที่ตั้งเป็นที่เนินเขา สภาพแวดล้อมทั่วไปเป็นภูเขามีป่าไม้ ภายในวัดซึ่งจะอยู่ด้านบนสุดจะมี พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ยาว 22เมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของบ้านบางนอน ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาสน์บนเนินเขาบางนอน โดยมีนายช่างจากกรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ กรมศิลปากรแนะนำให้พระครูประภัสรวิริยะคุณทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานดวงพระเนตรพระพุทธรูปปางไสยาสน์ผ่านทางสำนักพระราชวัง เมื่อทางสำนักพระราชวังนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานดวงพระเนตรพระพุทธไสยาสน์ทั้งสองดวง เดินอ้อมไปทางด้านหลังหน่อยจะพบกับ มหทุติยเจดีย์ศรีบรรพต ซึ่งมองบางครั้งก็คล้ายกับเจดีย์ที่มีรูปทรงคล้ายกับทางพม่า เนื่องจากวัดนี้เป็นที่ศรัทธาของชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง และเดินลงบันไดลงไปทางด้านล่างซึ่งบันได้สร้างได้อย่างสวยงาม ลงไปกราบหลวงพ่อด่วน ซึ่งเกิดสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นคือ หลังจากหลวงพ่อด่วนได้มรณภาพ และมีพระราชทานเพลิงศพ สรีระของหลวงพ่อด่วนไม่ไหม้ แม้จะมีการเผาหลายครั้งผลก็ยังเหมือนเดิม หลวงพ่อด่วนมรณภาพในปี 2550 ด้วยอายุ 90 พรรษา
 
 
บ่อน้ำร้อนสวนสาธารณะรักษะวาริน  
     เป็นบ่อน้ำร้อนซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้มีอยู่ 3 บ่อ คือ บ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูก ทั้ง 3 บ่อ บางบ่อก็มีอุณหภูมิสูงถึง 65 องศาเซลเซียส แทบจะแช่ตัวไม่ได้ ลวกแน่นอนแบบนี้ แต่บางบ่ออุณหภูมิก็ไม่ได้สูงมากสามารถลงไปแช่เท้าได้อย่างสบาย  กรมวิทยาศาสตร์บอกอีกว่า บ่อแห่งนี้ประกอบด้วยแร่ธาตุทำสำคัญ เป็นแหล่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่เลย ถึงว่าทำไมบางที่เราไปบ่อน้ำร้อนถึงได้กลิ่นฉุนของกำมะถัน ใครมาระนอง ไม่ได้มาที่นี่ก็ถือว่าพลาดนะพี่น้อง
 
 
ถนนคนเดินระนอง (The Walking Street Ranong) 
     ตั้งอยู่ในตัวเมืองระนองเลย เปิดบริการทุกวันเสาร์  ที่แห่งนี้พึ่งเปิดมาไม่นานนี้เอง ของกินมากมาย น่าเดินเล่นมากๆ เดินไปกินไป ชิลล์ๆ ไปด้วย มีตั้งเวที บางครั้งจะมีคนมาร้องเพลงให้ฟัง น่ารักจริงๆ
 
 
พระราชวังรัตนรังสรรค์  
     ส่วนตัวชอบมากที่แห่งนี้ เพราะดูกี่ครั้งก็ดูสวย เป็นราชวังจำลอง และเกี่ยวข้องกับตำนานเมืองระนอง  โดยปี พ.ศ. 2433พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก เป็นครั้งแรกที่จะได้เสด็จไปถึงเมืองระนอง พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง เจ้าเมืองระนอง) สร้างที่ประทับรับเสด็จที่บนเนินควนอันอยู่กลางเมือง สร้างล้วนด้วยเครื่องก่อประกอบกับไม้แก่นอย่างมั่นคง ประสงค์จะถวายเป็นราชพลีสนองพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงชุบเลี้ยงสกุลวงศ์มา และทรงประทับแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เป็นเวลา 3 ราตรี ระหว่าง 23-25 เมษายน พ.ศ.2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นดำรัสว่า“...ทำงดงามมั่นคงสมควรจะเป็นวัง ยิ่งกว่าจะเป็นพลับพลา...” จึงพระราชทานนามว่า “พระราชวังรัตนรังสรรค์” ให้เป็นเกียรติยศแก่เมืองระนอง และสกุลของพระยารัตนเศรษฐีด้วย แต่ทรงพระราชดำริว่า ที่เมืองระนองนานๆ จะเสด็จประพาสครั้งหนึ่ง วังทิ้งไว้เปล่าก็จะชำรุดทรุดโทรมเสีย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า โดยปกติให้ใช้พระราชวังนั้นเป็นศาลารัฐบาล และทำพิธีสำหรับบ้านเมือง ต่อเมื่อมีการเสด็จประพาสเมื่อใดจึงให้จัดเป็นที่ประทับ เป็นพระราชวังที่ทำด้วยไม้สักและไม้ตะเคียนทองสิ่งที่จัดแสดงภายในพระราชวังฯ ได้แก่ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ชั้น 3) ห้องพระราชินี (ชั้น 2) มีจำนวน 6 ห้อง อาคารทรงแปดเหลี่ยม อาคารท้องพระโรง สะพานเชื่อมอาคารที่ประทับกับอาคารแปดเหลี่ยม
 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้